ดูแลอย่างไรให้ช่องปากมีสุขภาพดี ห่างไกล 5 ปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

 

       การดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปากและฟันที่สะอาดจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกสบาย ไม่เจ็บปวด ไม่มีกลิ่นปาก กินอาหารได้ตามปกติ ลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ โดยเฉพาะปัญหาปอด ติดเชื้อจากการสำลัก (aspiration pneumonia) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

       มีผลสรุปจากงานวิจัยที่พบว่าหากทำความสะอาดช่องปากดีขึ้น อาจลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะปอดอักสบของผู้งอายุในบ้านพักคนชราได้ 1 ใน 10 สำหรับปัญหาในช่องปากที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ มีดังนี้ 

ภาวะปากแห้ง โดยผู้สูงอายุที่มีภาวะปากแห้ง คอแห้ง น้ำลายน้อย น้ำลายหนืด และกลืนลำบาก ให้จิบน้ำบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 8-12 แก้ว หรือ 2-3 ลิตร (ยกเว้นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องปริมาณน้ำดื่ม เช่นมีโรคไตควรปรึกษาแพทย์) หรือ อาจให้ดื่มน้ำซุป เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อย หรือเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล โดยผู้ดูแลอาจตั้งขวดน้ำไว้ใกล้ๆ ผู้สูงอายุเพื่อให้ไม่ลืมดื่มน้ำ ถ้าน้ำลายน้อยหรือหนืดมากอาจต้องใช้น้ำลายเทียมช่วย

       ถ้าผู้สูงอายุริมฝีปากแห้ง ให้ใช้ลิปมันหรือวาสลีนได้ (แต่ไม่ควรใช้ในกรณีที่ผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันต่ำเพราะอาจติดเชื้อ) นอกจากนี้สามารถใช้ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสูตรน้ำ เช่น เควายเจล หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัดหรือร้อนจัด หลีกเลี่ยงยาสูบประเภทต่างๆ หลีกเลี่ยงกาแฟและสุราซึ่งทำให้ปากแห้งมากขึ้น ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ แต่ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์

       นอกจากนี้ผู้ดูแลสามารถทำน้ำยาบ้วนปากให้ผู้สูงอายุเองได้ โดยผสมเกลือครึ่งช้อนชาในน้ำอุ่น 1 แก้ว หรือผสมเกลือครึ่งช้อนชาและโซดาทำขนม (โซเดียมไบคาร์บอเนต) ครึ่งช้อนชาลงในน้ำ 1 แก้ว ให้ผู้สูงอายุใช้บ้วนปาก หรือผู้ดูแลอาจใช้ผ้าชุบน้ำนี้เช็ดช่องปาก ฟัน เหงือก เพดานปาก กระพุ้งแก้ม และลิ้นให้ผู้สูงอายุ

       ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีหรือเคมีบำบัด นอกจากจะปากแห้งแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อราในปาก อาการที่ปรากฏคือมีฝ้าขาวหรือรอยแดงปนขาว โดยเฉพาะบริเวณใต้ฟันปลอมหรือมุมปาก ถ้าพบอาการเช่นนี้ให้ปรึกษาบุคลากรสาธารณสุขเพื่อพิจารณาว่าจะใช้ยาต้านเชื้อราหรือไม่

เยื่อบุช่องปากอักเสบ ให้ผู้ดูแลใช้น้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% (เกลือครึ่งช้อนชา ผสมน้ำ 1 แก้ว) หรือผสมโซดาทำขนมประมาณ ¼ ช้อนชากับเกลือ ¼ ช้อนชาในน้ำ 1 แก้วให้ผู้สูงอายุอมวันละ 5-6 ครั้ง ครั้งละ 1-2 นาที

แผลมุมปาก  อาการที่ปรากฏคือ เนื้อเยื่อมุมปากมีสีซีด ยุ่ย เป็นแผลแตก ระคายเคือง เจ็บปวดขณะอ้าปาก สาเหตุเกิดจากมุมปากแห้ง น้ำลายเอ่อมุมปาก ขนาดของฟันปลอมไม่ถูกต้อง ทานยาปฏิชีวนะมานาน หรือขาดวิตามินบีนอกจากนี้อาจมีการติดเชื้อราร่วมด้วย

การดูแลเบื้องต้นทำได้โดยใช้ผ้าสะอาดเช็ดน้ำลายที่มุมปากให้แห้งเสมอ ทาลิปมันหรือวาสลีนบรรเทาอาการปากแห้ง และส่งให้ทันตแพทย์รักษาและแก้ไขสาเหตุต่อไป

กลิ่นปาก ปัญหากลิ่นปากมักเป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุกังวลใจซึ่งแก้ไขได้โดยแปรงฟันให้สะอาดและแปรงลิ้น เพราะการแปรงลิ้นจะช่วยกำจัดคราบที่เกาะหนาบนลิ้นอันเป็น สาเหตุของกลิ่นปาก ควรจิบนำ้บ่อยๆ เพื่อให้น้ำลายไม่หนืด ตรวจดูว่าผู้สูงอายุมีอาการปากแห้ง เหงือกอักเสบ หรือมี เศษอาหารติดในช่องปากหรือไม่ นอกจากนี้อาจใช้น้ำยา บ้วนปากชนิดไม่มีแอลกอฮอล์ร่วมด้วย

ภาวะกลืนลำบาก คือภาวะที่ผู้สูงอายุกลืนอาหารของเหลว หรือน้ำลงสู่ลำคอได้ยากกว่าปกติ อาการที่แพทย์หรือนักกิจกรรมบำบัดใช้ประเมินว่าผู้สูงอายุมีภาวะกลืนลำบาก ได้แก่ อาการกล้ามเนื้อรอบปากอ่อนแรง ริมฝีปากปิดไม่สนิทจนน้ำลายไหล ชอบเก็บอาหารไว้ที่กระพุ้งแก้ม กล้ามเนื้อรอบปากขยับได้ช้าขณะเคี้ยว ภาวะกลืนลำบาก อาจทำให้เกิดปัญหาในช่องปาก เช่น มีอาหารตกค้างบริเวณกระพุ้งแก้ม มีแผ่นคราบจุลินทรีย์สะสมในปริมาณมากฟันผุง่ายขึ้น มีโอกาสปากแห้งได้มากขึ้น และสำลักได้ง่าย

       การดูแลสุขอนามัยช่องปากสำหรับผู้มีภาวะกลืนลำบาก ทำได้โดยแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์เช่นเดียวกับผู้สูงอายุติดเตียงทั่วไป แต่ต้องระมัดระวังท่าทางเป็นพิเศษ ผู้ดูแลควรจัดให้ผู้สูงอายุอยู่ในท่านั่งเอนหลัง ให้ศีรษะสูงจากพื้นโดยทำมุมประมาณ 30-45 องศาแล้วช่วยประคองบริเวณคอ จากนั้นสังเกตว่ามีอาหารค้างอยู่ที่กระพุ้งแก้มและลิ้นหรือไม่ หากมีให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆกวาดเศษอาหาร คราบต่างๆ เสมหะ หรือน้ำลายเหนียวออกให้มากที่สุด แล้วแปรงฟันด้วยแปรงสีฟันขนอ่อนนุ่ม และยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ บีบยาสีฟันเพียงเล็กน้อย โดยไม่ต้องจุ่มน้ำ คอยใช้ผ้าซับน้ำและน้ำลายเป็นระยะ เมื่อแปรงเสร็จแล้วให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดปากให้สะอาด

       กรณีผู้สูงอายุที่ไม่มีฟัน ให้ใช้แปรงขนอ่อนนุ่มแปรงหรือใช้ผ้าเช็ดบริเวณเหงือก เพดาน กระพุ้งแก้ม และลิ้นในกรณีที่แพทย์หรือนักกิจกรรมบำบัดตรวจประเมินแล้วพบว่าผู้สูงอายุมีภาวะกลืนลำบาก อาจแนะนำให้ออกกำลังกล้ามเนื้อรอบปากเพื่อกระตุ้นการกลืน โดยจัดให้ผู้สูงอายุอยู่ในท่านั่งที่มั่นคง อาจยกหัวเตียงสูงขึ้นหรือใช้หมอนหนุนให้อยู่ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน โดยหลังทำมุมเกือบตั้งฉากหรือทำมุม 30-60 องศาจากพื้น ห้ามให้ผู้สูงอายุ แหงนคอเพราะอาจสำลักเงียบได้ อธิบายให้ผู้สูงอายุฟังด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจนเพื่อกระตุ้นให้ตื่นตัวแต่ไม่ควรตะโกน จากนั้นให้เริ่มบริหารกล้ามเนื้อรอบปากโดยใช้นิ้วโป้งกดลงตรงกลางริมฝีปากบนแล้ววนเป็นวงกลม (ตามเข็มนาฬิกา) ลงมายังริมฝีปากล่าง ก่อนจะกลับมาบรรจบที่จุดตั้งต้น ทำทั้งหมด 5 ครั้ง จากนั้นใช้นิ้วชี้แตะในทิศทางต่างๆ

       นอกจากนี้การทำความสะอาดภายในช่องปากยังมีส่วนช่วยแก้ปัญหากลืนลำบาก วิธีปฏิบัติคือ ให้ผู้ดูแลยืนตรงหน้าผู้สูงอายุและช่วยเปิดปาก จากนั้นใช้แปรงสีฟันขนอ่อนนุ่มกระตุ้นบริเวณลิ้นตามภาพ โดยค่อยๆ ลากแปรงไปช้าๆ บริเวณด้านข้างลิ้น (ข้างที่ถนัดหรือข้างที่อ่อนแรงก็ได้) ลากจากตอนกลางมายังปลายลิ้น แล้วทำเช่นเดียวกันกับอีกข้าง จากนั้นตวัดแปรงจากตรงกลางลิ้นไปทางด้านข้างลิ้น โดยเริ่มจากโคนลิ้นแล้วค่อยๆ ขยับออกมายังปลายลิ้น ทำเช่นเดียวกันทั้งสองข้าง

       ผู้สูงอายุที่ให้อาหารทางสายยางก็จำเป็นต้องทำความสะอาดช่องปากเช่นกัน ผู้มีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุที่บ้านควรสังเกตว่าในช่องปากของผู้สูงอายุมีแผล มีเลือดออก รอยบวม หรือมีอาการปากแห้งหรือไม่ ถ้ามีควรปรึกษาบุคลากรสาธารณสุข ถ้าไม่มีควรตรวจสอบว่าท่อส่งอาหารอยู่ในตำแหน่งปลอดภัยก่อนทำความสะอาดปากและฟัน

       การจัดท่าทางขณะทำความสะอาดปากและฟัน ควรให้ผู้สูงอายุอยู่ในท่ายกศีรษะสูงหรือตะแคงข้าง หากผู้สูงอายุยังมีฟันธรรมชาติ ให้ผู้ดูแลใช้แปรงสีฟันแห้งขนาดเล็กและยาสีฟันที่มีฟองน้อยแปรงฟันและเหงือกเบาๆหากผู้สูงอายุไม่มีฟัน ให้ใช้แปรงสีฟันแปรงเพดานปากเหงือก เนื้อเยื่ออ่อน และลิ้น เมื่อแปรงเสร็จควรเช็ดปากให้สะอาดด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ

 

ที่มา : https://thaitgri.org