สวัสดีวันศุกร์
"อัญชัน" ช่วยรักษาโรคทางระบบประสาทและสมอง
ดอกอัญชัน ดีต่อสุขภาพจริงหรือ
ดอกอัญชัน เป็นไม้เถา มีดอกสีม่วงอมน้ำเงินสวยงามตามธรรมชาติ ทำให้นิยมนำมาคั้นเป็นสีผสมอาหาร คุณประโยชน์ของดอกอัญชันยังครอบคลุมไปถึงสรรพคุณทางยาอันหลากหลาย เช่น ลดไข้ แก้หอบหืด เป็นต้น
โดยมีส่วนประกอบของแอนโทไซยานิน ฟลาโวนอยด์ สเตียรอยด์ และไตรเตอร์ปินอยด์ ซึ่งเชื่อว่ามีคุณสมบัติช่วยรักษาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ลดอาการปวดบวมอักเสบ ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ขับปัสสาวะ รักษาโรคเบาหวาน ต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น ผู้คนจึงนิยมนำเมล็ด ต้น ดอก หรือรากของอัญชันมาใช้โดยหวังสรรพคุณดังกล่าว นอกจากนี้ อัญชันยังมีคุณประโยชน์ทางยาด้านอื่น ๆ ซึ่งมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพอย่างกว้างขวาง ดังนี้
1. เสริมสร้างความจำ หากกล่าวถึงคุณประโยชน์ของอัญชันแล้ว พืชชนิดนี้ได้ชื่อว่าช่วยเสริมสร้างความจำและสติปัญญา ดังปรากฏในงานวิจัยที่มีการศึกษาอย่างแพร่หลาย ผลการศึกษาหนึ่งชี้ให้เห็นว่าสารสกัดแอลกอฮอล์จากดอกอัญชันช่วยป้องกันการเสื่อมถอยของความจำในหนูทดลอง เช่นเดียวกับการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่ให้หนูทดลองกินยาตำรับอินเดียผสมสารสกัดอัญชันในปริมาณ 3 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ติดต่อกัน 60 วัน แล้วพบว่าเซลล์สมองของหนูถูกทำลายน้อยลง
นอกจากนี้ งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ได้ให้หนูที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานกินตำรับยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของรากอัญชันและพืชชนิดหนึ่งของศรีลังกาเป็นเวลา 30 วัน เมื่อวัดผลแล้วปรากฏว่ายาดังกล่าวมีประสิทธิภาพช่วยลดความเสียหายของเซลล์สมองที่เป็นผลจากโรคเบาหวาน และส่งผลให้ประสิทธิภาพด้านความจำของหนูทดลองเสื่อมถอยน้อยลง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าดอกอัญชันมีสรรพคุณช่วยป้องกันการเสื่อมสมรรถภาพด้านความจำจากการที่เซลล์สมองถูกทำลายได้ สอดคล้องกับการศึกษาอีกชิ้นที่แสดงผลว่าหนูที่ได้รับสารสกัดจากรากอัญชันมีความจำและเรียนรู้ได้ดีกว่าหนูที่ไม่ได้รับสารสกัดดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้งานวิจัยหลายชิ้นจะชี้ให้เห็นว่าดอกอัญชันช่วยป้องกันการเสื่อมถอยของความจำ แต่งานวิจัยเหล่านี้ล้วนทดลองกับสัตว์ ทั้งยังไม่ปรากฏงานวิจัยหรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการนำดอกอัญชันมาใช้กับคนโดยตรง จึงจำเป็นต้องศึกษาระยะยาวกับกลุ่มคนจำนวนมากเพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยเมื่อนำมาใช้กับคน
2. รักษาโรคทางระบบประสาทและสมอง โรคทางสมองเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของยีน ความผิดปกติของระบบประสาท การได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง การติดเชื้อ เป็นต้น โดยผู้ป่วยจะมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันของสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาท ส่งผลให้อวัยวะในร่างกายทำงานไม่ปกติ ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นศึกษาสรรพคุณทางยาของพืชหลากหลายชนิดที่อาจส่งผลดีต่อโรคทางระบบประสาทและสมอง เพื่อหาแนวทางการรักษาและป้องกันแผนทางเลือก รวมทั้งดอกอัญชันและส่วนต่าง ๆ จากพืชชนิดนี้ ซึ่งมีงานวิจัยหนึ่งที่พบว่าสารสกัดจากรากอัญชันมีส่วนประกอบของสารพฤกษาเคมีที่อาจช่วยต้านอาการป่วยของโรคอันเกิดจากภาวะเสื่อมของระบบประสาทและสมอง รวมทั้งรักษาอาการซึมเศร้าได้ตามที่มีกล่าวไว้ในตำรับยาอายุรเวชของอินเดีย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏผลรับรองให้นำดอกอัญชันมาใช้รักษาโรคทางระบบประสาทและสมองด้วยวิธีทางการแพทย์ ที่สำคัญ โรคนี้เป็นโรคร้ายแรงที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ การเคลื่อนไหว การพูด การกลืนอาหาร การหายใจ การเรียนรู้ ความจำ ประสาทสัมผัส และอารมณ์ ผู้ใกล้ชิดหรือบุคคลในครอบครัวจึงควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์และรับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ เพื่อบรรเทาอาการของโรคอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
3. ต้านอนุมูลอิสระ สรรพคุณทางยาที่สำคัญของพืชหลายชนิดคือช่วยป้องกันเซลล์ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ เช่นเดียวกับดอกอัญชันที่นับเป็นพืชอีกชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยงานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าดอกอัญชันอาจมีสรรพคุณช่วยลดความเสียหายของเซลล์ที่เกิดจากอนุมูลอิสระ และอาจมีประโยชน์ในการช่วยรักษาและป้องกันปัญหาสุขภาพหลายประการ ตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาในด้านนี้โดยนำกลีบดอกอัญชันมาสกัดสารเคมีและทดสอบในหลอดทดลอง พบว่าดอกอัญชันมีฤทธิ์ปกป้องเซลล์เม็ดเลือดแดงจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ ผลการทดลองของงานวิจัยอีกชิ้นก็แสดงให้เห็นว่าสารสกัดดอกอัญชันมีสารเควอซิทินและแอนโทไซยานินที่อาจเป็นประโยชน์โดยช่วยลดการอักเสบของเซลล์ และอาจนำมาใช้เป็นยาหรือสารสกัดสำหรับป้องกันปัญหาสุขภาพที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรังได้
ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่ทดสอบกับหนูทดลองก็ปรากฏผลลัพธ์ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยข้างต้น โดยพบว่าหนูทดลองที่ได้รับสารสกัดอัญชันมีเซลล์อัณฑะที่เสียหายและถูกทำลายจากอนุมูลอิสระน้อยกว่าหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัดดังกล่าว โดยคาดว่าเป็นผลมาจากสารต้านอนุมูลอิสระในอัญชัน และพบว่าสารเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์ของหนูทดลอง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการศึกษาที่มีในปัจจุบันยังไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่าดอกอัญชันมีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากงานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ล้วนวิจัยกับสัตว์ทดลองหรือศึกษาในหลอดทดลอง จึงควรศึกษาเพิ่มเติมกับคนต่อไป เพื่อยืนยันว่ามีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการบริโภคจริง
4. ลดไข้ สรรพคุณด้านการลดไข้ของอัญชันได้รับการกล่าวอ้างอยู่บ้าง ซึ่งทางวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาเพื่อค้นหาคำตอบในเรื่องนี้ ดังปรากฏงานวิจัยหนึ่งที่พบว่าหนูทดลองมีอาการบวมที่อุ้งเท้าและมีไข้ลดลงหลังได้รับสารสกัดรากอัญชันเข้าไป ยิ่งไปกว่านั้น อัญชันอาจมีสรรพคุณรักษาอาการป่วยได้เหมือนยาแก้ไข้ที่ใช้กันทั่วไป เนื่องจากมีการศึกษากับหนูทดลองอีกชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นว่าสารสกัดอัญชันช่วยลดอาการตัวร้อน เป็นไข้ โดยออกฤทธิ์นานถึง 5 ชั่วโมง
แม้จะปรากฏงานวิจัยที่แสดงสรรพคุณในการลดไข้ของดอกอัญชัน แต่งานวิจัยที่ผ่านมาล้วนเป็นการศึกษากับหนูทดลอง ยังไม่ปรากฏการศึกษากับคนโดยตรง ทางที่ดีผู้ที่มีไข้ตัวร้อนจึงควรดูแลอาการป่วยด้วยการพักผ่อนให้มาก ดื่มน้ำให้เพียงพอ และรับประทานยาลดไข้ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปหรือยาที่แพทย์จัดให้ ส่วนทารกที่ไข้ขึ้นนั้นควรได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ควรดูแลตัวเองไม่ให้ป่วยด้วยการล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง ไม่ใช้แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว หรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งใส่หน้ากากอนามัย เมื่ออากาศเริ่มเย็นขึ้นหรืออยู่ในที่ที่ผู้คนพลุกพล่าน เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อโรค
5. แก้หอบหืด สรรพคุณของอัญชันอีกประการหนึ่งที่มีการกล่าวอ้างกันคือช่วยลดอาการแพ้อันเป็นสาเหตุจากโรคหืด ความเชื่อนี้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ให้เห็นบ้าง ดังปรากฏในการทดสอบสรรพคุณรักษาหอบหืดของรากอัญชันกับหนูทดลอง ผลลัพธ์พบว่าหนูทดลองมีปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสารบางอย่างน้อยลงหลังได้รับสารสกัดจากรากอัญชัน จึงอาจกล่าวได้ว่ารากอัญชันมีคุณสมบัติช่วยลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุของโรคหืดได้
อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจระบุประสิทธิภาพของดอกอัญชันต่อการรักษาผู้ป่วยโรคหืดได้อย่างชัดเจน เนื่องจากงานวิจัยดังกล่าวเป็นการทดลองกับสัตว์ ทั้งยังไม่ปรากฏการศึกษากับคนโดยตรง ผู้ป่วยโรคหืดจึงควรเข้ารับการรักษาอาการป่วยด้วยวิธีทางการแพทย์และปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม โดยใช้ยารักษาโรคหืดตามแพทย์สั่งจ่าย หมั่นทำความสะอาดบ้าน เลี่ยงการอยู่ใกล้สุนัข แมว หรือสัตว์ที่มีขนหนา ใช้หน้ากากอนามัยเมื่ออากาศเริ่มเย็น ออกกำลังกายเป็นประจำ รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งควบคุมอาการของโรคกรดไหลย้อนอันอาจส่งผลให้อาการหอบหืดแย่ลง
6. ลดคอเลสเตอรอล ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูงนับเป็นอีกปัญหาสุขภาพที่สำคัญ เนื่องจากทำให้เสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ทำให้ผู้คนต่างสรรหาพืชสมุนไพรที่เชื่อว่าช่วยลดไขมันในเลือดมารับประทานอย่างหลากหลาย และมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพอย่างกว้างขวาง ซึ่งอัญชันก็เป็นพืชอีกชนิดที่ถูกนำมาสกัดส่วนประกอบเพื่อทดสอบสรรพคุณข้อนี้ ดังงานวิจัยหนึ่งที่พบว่าสารสกัดจากรากและเมล็ดอัญชันช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในหนูทดลองได้ โดยมีฤทธิ์เทียบเท่ากับยารักษาไขมันในเลือดสูงอย่างอะทอร์วาแสตนติน
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการรับประทานอัญชัญเพื่อหวังผลดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เนื่องจากงานวิจัยชิ้นนี้ศึกษากับสัตว์ จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าจะนำมาใช้รักษาภาวะคอเลสเตอรอลสูงกับคนได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ วิธีลดและควบคุมระดับคอเลสเตอรอลที่ปลอดภัยและได้ผลนั้นทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตที่เหมาะสม ได้แก่ งดสูบบุหรี่ จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ติดมัน เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์เนยนมที่มีไขมันต่ำ เลี่ยงของทอด ของมัน ขนมหวาน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และลดน้ำหนักหรือรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ดอกอัญชันกินรักษาโรคได้จริงหรือไม่
แม้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นจะชี้ให้เห็นสรรพคุณทางยาของดอกอัญชันต่อการรักษาและบรรเทาอาการป่วยของหลาย ๆ โรค เช่น ลดไข้ ลดไขมันในเลือด แก้โรคหืด รักษาโรคทางสมอง หรือช่วยเสริมสร้างการทำงานของอวัยวะในร่างกาย แต่ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลทางการแพทย์เพียงพอที่จะชี้ชัดได้ว่าดอกอัญชันช่วยรักษาปัญหาสุขภาพเหล่านี้ได้จริง ประเด็นเกี่ยวกับสรรพคุณทางยาของพืชชนิดนี้จึงจำเป็นต้องศึกษาระยะยาวกับกลุ่มคนจำนวนมากต่อไป เพื่อรับรองความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการนำมาใช้รักษากับคนโดยตรง
นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการบริโภคดอกอัญชันเพื่อสรรพคุณทางยาควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากดอกอัญชันอาจทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางชนิด หรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางประการได้ โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตร โดยการบริโภคดอกอัญชันให้ปลอดภัยต่อสุขภาพทำได้ ดังนี้
- ควรระมัดระวังการรับประทานดอกอัญชัน หากกำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากดอกอัญชันมีฤทธิ์ละลายลิ่มเลือด จึงอาจทำให้ยามีฤทธิ์รุนแรงยิ่งขึ้นและก่อให้เกิดอันตรายได้
- ไม่ควรดื่มน้ำอัญชันที่มีความเข้มข้นมากเกินไป และไม่ดื่มแทนน้ำเปล่า
- ควรใช้ดอกอัญชันชงเป็นเครื่องดื่มในปริมาณแต่พอน้อย
- ผู้ที่มีอาการแพ้ละอองหรือเกสรดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ควรระมัดระวังในการใช้ดอกอัญชันหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของอัญชัน เนื่องจากเสี่ยงก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกัน
หากมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง ติดต่อสอบถาม ศิรินได้เลยนะคะ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
▶️ FB : Serene Hospital Thailand
▶️ IG : serenehospitalthailand
▶️ Line@ : @serenehospital
▶️ Website : www.serenehospitalthailand.com
📍 พิกัด : ซอย กรุงเทพกรีฑา 8 แยก 16 แขวง หัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240
📱 : 063-992-6315 ติดต่อฝ่ายบริการลูกค้า