สงกรานต์ปีนี้ สรงน้ำพระที่บ้าน ต้านภัยห่างไกล COVID-19

สงกรานต์ปีนี้
สรงน้ำพระที่บ้าน
ต้านภัยห่างไกล COVID-19

ด้วยความห่วงใยจาก โรงพยาบาลศิริน
#สงกรานต์ปลอดภัยห่างไกลโควิด

 

สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม รณรงค์ “สงกรานต์พ.ศ.2563 สรงน้ำพระที่บ้าน ต้าน Covid-19” ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโรค โควิด-19 เปิดขั้นตอนการสรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน พร้อมคำกล่าวขอขมา คำกล่าวอาราธนา และคำอธิษฐานสรงน้ำพระ

สงกรานต์ เป็นคำสันสกฤต หมายถึง ‘การเคลื่อนย้าย’ ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี คือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเพณีสงกรานต์ ได้รับการสืบทอดมาแต่โบราณคู่กับ ตรุษ (วันเปลี่ยนปีนักษัตรตามหลักโหราศาสตร์ไทย) จึงเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึง ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

เดิมวันที่จัดเทศกาลสงกรานต์กำหนดโดยการคำนวณทางดาราศาสตร์ แต่ปัจจุบันระบุแน่นอนว่าคือวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี

การประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการ คำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ โบราณกำหนดให้วันแรกของเทศกาลเป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ (13 เม.ย.) วันถัดมาเรียกว่า วันเนา (14 เม.ย.) ภาษาเขมร ‘เนา’ แปลว่า ‘อยู่’ และวันสุดท้ายเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า วันเถลิงศก(15 เม.ย.)

ข้อมูลจาก ‘กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม’ ระบุว่า ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง มีประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช 2563 ดังนี้

ประกาศสงกรานต์ พุทธศักราช 2563 ตรงกับ ปีชวด (เทวดาผู้ชาย ธาตุน้ำ) โทศก จุลศักราช 1382, รัตนโกสินทรศก 239, ทางจันทรคติ เป็น อธิกวาร, ทางสุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน

วันที่ 13 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันจันทร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 5 เวลา 20 นาฬิกา 48 นาที

 

 

นางสงกรานต์ ทรงนามว่า โคราคะเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกปีบ(กาสะลอง) อาภรณ์แก้วมุกดาหาร ภักษาหารน้ำมัน พระหัตถ์ขวาทรงธนหรือไม้เท้า พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรมาเหนือหลังพยัคฆะ เป็นพาหนะ

วันที่ 16 เมษายน เวลา 09 นาฬิกา 24 นาที 36 วินาที เปลี่ยนจุลศักราช ใหม่ เป็น 1382

ปีนี้ วันพฤหัสบดี เป็น ธงชัย , วันอาทิตย์ เป็น อธิบดี , วันพุธ เป็น อุบาทว์ , วันอังคาร เป็น โลกาวินาศ

เกณฑ์พิรุณศาสตร์ปีนี้ วันศุกร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในเขาจักรวาล 250 ห่า

ขณะที่เว็บไซต์ myhora.com ระบุเพิ่มเติมว่า 

"เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีมิถุน ชื่อวาโย (ธาตุลม) น้ำพอประมาณ พายุจัด

เกณฑ์นาคราชให้น้ำปีนี้ นาคราชให้น้ำ 1 ตัว ทำนายว่า ฝนทราม

เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ ๐ ชื่อ ‘ปาปะ’ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 1 ส่วน เสีย 9 ส่วน คนทั้งหลายจะตกทุกข์ได้ยากลำบากแค้น เพราะกันดารอาหารบ้าง จะฉิบหายเป็นอันมากแล"

ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษเป็น ช่วงฤดูร้อน ประเพณีดั้งเดิมจึงมีการใช้ น้ำ เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ใช้รดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการ สรงน้ำพระ เพื่อเป็นสิริมงคล ทำบุญตักบาตรไหว้พระ และขอพรจากผู้ใหญ่ ทำบุญอัฐิรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ

เดิมพิธีสงกรานต์เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกครอบครัวหรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมวงกว้าง

สังคมไทยสมัยใหม่เกิด ธรรมเนียมนิยมกลับบ้าน ในเทศกาลสงกรานต์ โดยได้รับการสนับสนุุนจากรัฐบาลกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปีเป็นวันหยุดราชการ รวมทั้งกำหนดสัญลักษณ์ให้วันสงกรานต์เป็น วันครอบครัว ปัจจุบันมีการประชาสัมพันธ์ในเชิงท่องเที่ยวว่าเป็น Water Festival

 

แต่ปีนี้ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ทำให้นาย อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตอบรับมติคณะรัฐมนตรีควบคุมและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด โดยออกประกาศตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาเรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง รวมทั้งควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวในกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก

ประกาศดังกล่าวระบุถึง เทศกาลประเพณีสงกรานต์ ว่า

1.ให้งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ

2.งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา

3.หากต้องการรดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่ หรือแสดงความกตัญญูกตเวที หรือแสดงความปรารถนาดีต่อกัน ควรใช้การสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ หรือช่องทางสื่อสังคมออนไลน์

4.งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยเด็ดขาด

5.เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ ให้ปฏิบัติเฉพาะภายในครอบครัวเท่านั้น อาทิ สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน รดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่ที่บ้านโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของญาติผู้ใหญ่ที่สูงอายุ และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ขณะเดียวกัน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 กำหนดให้ เลื่อนวัดหยุดเทศกาลสงกรานต์ของปีพ.ศ.2563 จากวันที่ 13-15 เมษายน 2563 ออกไปก่อน

 

ดังนั้น สงกรานต์ปีนี้ เรามา สรงน้ำพระพุทธรูป อยู่ที่บ้านกันดีกว่าตามคำชักชวนของ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ที่ว่า “สงกรานต์ปีนี้ สรงน้ำพระที่บ้าน ต้าน Covid-19”

 

ขั้นตอนการสรงน้ำพระพุทธรูป

  1. อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาเช็ดทำความสะอาดเบื้องต้นด้วยผ้าผืนใหม่หรือฟองน้ำสะอาดทีละองค์ หากเป็น ‘กรอบรูป’ ให้ใช้ฟองน้ำชุบน้ำบิดหมาดแล้วเช็ดให้เกลี้ยงเกลา หากเป็น ‘พระเครื่อง’ ควรหากล่องเก็บใส่ไว้ให้เป็นระเบียบ
  2. เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้ว ให้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งหมดไปประดิษฐานชั่วคราวบนโต๊ะ โดยมีพานหรือถาดรอง ประดับโต๊ะด้วยดอกไม้หอม กลีบดอกไม้ หรือพวงมาลัยให้สวยงาม
  3. เตรียมเครื่องหอม โดยการโรยดอกไม้หอม พวงมาลัย น้ำหอม น้ำอบ หรือน้ำปรุง ใส่ในขันน้ำสะอาดไว้สำหรับสรงน้ำพระ
  4. ทำความสะอาดที่ประดิษฐานองค์พระประจำบ้าน เช่น หิ้งพระ โต๊ะหมู่บูชา และสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับที่ประดิษฐานองค์พระให้สะอาดสะอ้าน
  5. ชวนคนในบ้านตั้งจิตอธิษฐานและร่วมสรงน้ำพระไปพร้อมๆ กัน โดยนำขันน้ำที่ใส่เครื่องหอมเตรียมไว้สรงที่องค์พระพุทธรูปให้ครบทุกองค์

 

 

ทั้งนี้ ก่อนอัญเชิญพระพุทธรูปมาเช็ดทำความสะอาด ให้กล่าว คำขอขมา ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดโทษภัย เริ่มด้วยการตั้งนะโม 3 จบ และกล่าวคำขอขมาดังนี้

ระตะนัตตะเย ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต

คำแปล :- กายกรรม 3, วจีกรรม 4, มโนกรรม 3, ที่ข้าพเจ้าได้ประมาทพลาดพลั้งในพระรัตนตรัย ด้วยความตั้งใจก็ดี ไม่ตั้งใจก็ดี ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ขอพระรัตนตรัยได้โปรดยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด

จากนั้นจึงอัญเชิญพระพุทธรูปไปตั้งสรงน้ำ ณ ที่กำหนด พร้อมกล่าวอาราธนาดังนี้

อุกาสะ ภันเต ภะคะวา อะยัง กาโล คิมหันตะอุตุ

กาละสัมปัตโต อิจฉามะ ภะคะวันตัง อะภิสิญจิตุง

สักกัจจัง อาราธะนัง กะโรมะ

คำแปล :-  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอประทานพระวโรกาส เวลานี้เป็นหน้าร้อน ผองข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ปรารถนาอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าลงสรงน้ำด้วยความเคารพยิ่ง เพื่อความผาสุกของข้าพเจ้าทั้งหลาย

ก่อนสรงน้ำพระ ให้เริ่มด้วยการตั้งนะโม 3 จบ และ กล่าวคำอธิษฐานสรงน้ำพระ ดังนี้

อิมินา สิญฺจะเนเนวะ โรโค โสโก อุปัททะโว นิพพันตุ สัพพะโส เอเต สุขี โหนตุ นิรันตะรัง

คำแปล :- เดชะ ข้าสรงน้ำ พระชุ่มฉ่ำตลอดกาล ทุกข์โศกโรคภัยพาล อันตรธาน เป็นสุข เทอญ

หลังจากกล่าวคำอธิษฐานเสร็จแล้ว จึงตักน้ำสรงพระพุทธรูปด้วยความเคารพ และอัญเชิญพระพุทธรูปกลับสู่โต๊ะหมู่บูชา

เว็บไซต์ วัดตระพังทอง เมืองเก่าสุโขทัย (www.traphangthong.org) ระบุว่า บุญที่เกิดจากการสรงน้ำพระ คือ ความสุขใจ เบิกบานใจ ชุ่มชื่นใจ ความสะอาดของจิตใจ อันเกิดจากความเลื่อมใสในสิ่งที่ตนเคารพแล้วกระทำการบูชา ดังพระบาลีว่า นัตถิ จิตเต ปะสันนัมหิ อัปปะกา นามะ ทักขิณา เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว ผลบุญไม่ชื่อว่าน้อย การสรงน้ำพระ ก็เป็นการกระทำที่เกิดจากจิตที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้วต้องการถวายน้ำอบน้ำหอม อันเป็นอามิสบูชา อีกนัยหนึ่งเป็นการแสดงมุทิตาจิตในท่านผู้เป็นที่เคารพ ซึ่งพระพุทธรูปก็จัดอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพทางด้านจิตใจ โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ซึ่งปฏิบ้ติดีเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ สืบสานหลักธรรมนำเผยแผ่ สาธุชนสำนึกในคุณงามความดีของท่าน จึงถวายการเคารพบูชาด้วยการสรงน้ำ เป็นผลแห่งกุศลกรรมรูปแบบหนึ่ง

ระหว่างการสรงน้ำพระ อย่าลืมทำ Social Distancing แม้อยู่ในบ้าน ก็ไม่ควรประมาท..เพื่อคนที่คุณรักทุกคน

 

หากมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง ติดต่อสอบถาม ศิรินได้เลยนะคะ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
▶️ FB : Serene Hospital Thailand
▶️ IG : serenehospitalthailand
▶️ Line@ : @serenehospital
▶️ Website : www.serenehospitalthailand.com
📍 พิกัด : ซอย กรุงเทพกรีฑา 8 แยก 16 แขวง หัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240
📱 : 063-992-6315 ติดต่อฝ่ายบริการลูกค้า